บริจาค

เรื่องเล่าจากพื้นที่

อาหารเช้า กับ การเรียนที่บ้าน
โควิด เรียนที่บ้าน เด็กๆกินอะไรกัน? หลายๆคนคงอยากรู้ว่า ในช่วงโควิดแบบนี้ เด็กๆเรียนหนังสือที่บ้าน แล้วพวกเขากินอะไรกัน ข้าวเช้าได้กินไหมนะ?

FOOD FOR GOOD ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบของการจัดการเชิงระบบในสถานศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ใน จ.เพชรบูรณ์​ โดยการดำเนินการมุ่นเน้นเพื่อเกิดกลไลสนับสนุนให้เด็กนักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษ​ ได้รับอาหารเช้าที่มีคุณภาพดี เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป

ช่วงแรก FOOD FOR GOOD เปิดให้โรงเรียนมีที่คุณสมบัติเบื้องต้น คือ หนึ่ง โรงเรียนต้องมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษจำนวน มากกว่าร้อย 80 ของนักเรียนทั้งหมด และ สอง มีแนวคิดที่จะร่วมพัฒนาต้นแบบของการจัดการอาหารเข้าของเด็กนักเรียนในสถานศึกษา ทำให้ได้ 6 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีนักเรียนทั้งหมด 409 คนประกอบด้วย
รร.บ้านหนองปลา อ.หล่มสัก
รร.บ้านท่าอิบุญ อ.หล่มสัก
รร.บ้านลำพาด อ.หนองไผ่
รร.บ้านหนองจอกวังกำแพง อ.ศรีเทพ
รร.บ้านสระเกษ อ.หนองไผ่
รร.บ้านท่าเยี่ยม อ.หนองไผ่

กิจกรรมแรกวางแผนให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการจัดการอาหารเช้าให้กับนักเรียนตั้งแต่เปิดเทอมการศึกษา 1 ปี 2564 แต่เนื่องด้วยพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์มีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดทั้งโรงงานและหมู่บ้านในพื้นที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จึงจัดให้ จ.เพชรบูรณ์เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ส่งผลให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดสอนแบบ On-site ได้

คณะทำงานจึงได้ร่วมปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยมีเป้าหมายให้เด็กนักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษ​ ได้รับอาหารเช้าแม้จะเรียนที่อยู่ที่บ้าน จึงทำให้ 2 โรงเรียน : โรงเรียนบ้านท่าเยี่ยมและโรงเรียนบ้านลำพาด ได้เตรียมชุดถุงยังชีพ พร้อมเมนูอาหารเช้า เพื่อมอบให้กับผู้ปกครอง เพื่อทำการแจกจ่ายให้พร้อมกันในวันที่ผู้ปกครองต้องมารับใบงานของเด็ก ๆ โดยFOOD FOR GOOD ได้แนะนำการจัดการอาหารเช้าโดยอ้างอิงจากอาหารเช้าในโรงพยาบาล ว่า
1.อาหารเช้ามีเวลาเตรียมน้อย ควรเป็นอาหารที่ง่าย เช่น ข้าวต้ม หรือ ข้าวกับข้าวง่าย ๆ
2.ควรมีองค์ประกอบของ 3 กลุ่มอาหารขึ้นไป คือ ข้าว (แป้ง) เนื้อสัตว์ ผักหรือผลไม้ และไขมัน
3.มีความหลากหลายของเมนูของมื้อเข้า กลางวัน และเย็น
4.ควรที่ส่วนประกอบของอาหารที่มีสารอาหารเข้มข้นเหมือนอาหารกลางวัน เช่น เลือด 1 ครั้ง ปลาทั้งก้าง 1 ครั้ง เป็นต้น

ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม โรงเรียนบ้านท่าเยี่ยมได้เตรียมชุดถุงยังชีพ โดยเน้นไปที่โปรตีน เช่น ไข่ ปลาสด ปลากระป๋อง พร้อมเมนูอาหารเช้า เพื่อมอบให้กับผู้ปกครอง เพื่อทำการแจกจ่ายให้พร้อมกันในวันที่ผู้ปกครองต้องมารับใบงานของเด็ก ๆ ขณะที่โรงเรียนบ้านลำพาด แจกถุงยังชีพเช่นกัน ประกอบด้วย ผัก และไข่ พร้อมเมนูอาหารเช้าแนะนำเช่นกัน และครูได้ใช้กระบวนการติดตามเมนูอาหารเช้าผ่าน Line ซึ่งทำให้เห็นหน้าตาเมนูอาหารของเด็ก ๆ ในทุก ๆ วัน

นางจันทนา คุ้มสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าเยี่ยม จ.เพชรบูรณ์ บอกว่า ทางโรงเรียนได้เริ่มแจกวัตถุดิบให้ผู้ปกครองไปประกอบอาหารเช้าให้เด็ก ๆ เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยแจก2 สัปดาห์ครั้ง ส่วนใหญ่เรามอบให้คือ โปรตีน เพราะผู้ปกครองสามารถหาผักแถวบ้านได้ไม่ยาก เช่นสัปดาห์แรก เรามอบไข่ 20 ฟอง ปลาทู ปลากระป๋อง ขณะที่โรงเรียนปลูก มะละกอ มะนาว จึงให้มอบให้ผู้ปกครองไปด้วยพร้อมเมนูแนะนำที่คุณครูช่วยกันจัดทำขึ้น

กิจกรรมที่จัดขึ้นพบว่าผู้ปกครองดีใจมากที่มาช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย สำหรับกระบวนการติดตาม ทางโรงเรียนใช้กลุ่มไลน์ส่งไปสอบถาม ซึ่งผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือในการส่งภาพเมนูอาหารมาทุกวัน สำหรับเดือนนี้เราวางแผนเพิ่มคือ การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านโดยปรับให้ลงเช้ามากขึ้นเพื่อดูมื้อเช้าและสนับสนุนเด็กในเรื่องการเรียน เพราะมีหลายบ้านที่ไม่มีอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์
เราเชื่อว่า อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด วันนี้ผู้ปกครองหลายท่านได้นำวัตถุดิบไปประกอบการอาหาร อาทิ ไข่ตุ่นหมูสับแครอท ข้าวผัดไข่ ต้มยำปลาทู ไข่พะโล้ บวบผัดไข่


อ่านเรื่องเล่าอื่นๆ